ระมัดระวังซอฟต์แวร์วินโดวส์ 7 ปลอมระบาด

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553 , Posted by Nantana-it249 at 17:26


จากนโยบายปราบปรามซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศอย่างต่อเนื่องและจริงจังของกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศ เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก บก.ปอศ. ได้เข้าตรวจค้นร้านขายซอฟต์แวร์ในห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า และจับกุมร้านค้าไม่ระบุชื่อ ตั้งอยู่เลขที่ 148บริเวณชั้น 1 และร้านมิดิเฮ้าส์ เลขที่ 421 บริเวณชั้น 4 รวมทั้งสิ้นจำนวน 2 ร้าน ซึ่งได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 7 ละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งที่ยังไม่มีการเปิดตัวและวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ


เจ้าของร้านทั้ง 2 แห่งดังกล่าวถูกฟ้องร้องและดำเนินคดีตามกฎหมาย จากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหากศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง จำเลยทั้ง 2 คนจะได้รับโทษจำคุก 3 เดือนถึง 2 ปี หรือปรับระหว่าง 50,000 ถึง 400,000 บาท


นางสาวรีเบคก้า โฮ ตัวแทนด้านการรณรงค์ทรัพย์สินทางปัญญา ไมโครซอฟท์ กล่าวว่า “วินโดวส์ 7 มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการทั่วโลกในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ สำหรับในประเทศไทยนั้นจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการแก่ผู้บริโภคทั่วไปในวันที่ 31 ตุลาคม ดังนั้น ผลิตภัณฑ์วินโดวส์ 7 ที่วางจำหน่ายก่อนหน้านี้จึงเป็นซอฟต์แวร์เถื่อนอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจครั้งล่าสุดนั้น ร้านค้าที่จำหน่ายได้โฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์วินโดวส์ 7 แท้จนผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์”


“ไมโครซอฟท์ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับการจับกุมในครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าผู้บริโภคถูกหลอกว่าเป็นซอฟต์แวร์แท้ ด้วยเหตุนี้ ไมโครซอฟท์จึงต้องการกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์แท้ก่อนซื้อ ซึ่งสิ่งที่สามารถสังเกตได้ง่ายคือ ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มักมีบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพ ตัวหนังสือบนเครื่องหมายการค้าและฉลากมีการสะกดผิด แผ่นซีดีไม่ได้คุณภาพ สติ๊กเกอร์ 3 มิติ หรือ โฮโลแกรมและฉลาก COA ไม่ได้มาตรฐาน”



ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในระยะยาว ด้วยอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ยังคงสูงในประเทศไทย ทำให้รายได้จากการขายซอฟต์แวร์แท้ที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นั้นกลับต้องตกเป็นของผู้ผลิตซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ผลิตภัณฑ์วินโดวส์ 7 ไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้ให้กับไมโครซอฟท์เท่านั้น แต่ยังจะสร้างประโยชน์ให้กับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับบริษัทไอทีที่ขายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เขียนซอฟต์แวร์ ให้บริการด้านไอที และผู้แทนจำหน่าย ซึ่งการเติบโตที่เอื้อประโยชน์ให้กับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม ที่พร้อมจะฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจในวันข้างหน้า


จากรายงานล่าสุดของไอดีซีระบุว่า ทุกๆ หนึ่งดอลล่าร์สหรัฐที่ไมโครซอฟท์ได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วินโดวส์ 7 ระหว่างเดือนตุลาคม 2552 ถึงสิ้นปี 2553 จะสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมไอทีทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยถึง 18.52 ดอลล่าร์ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการสร้างจิตสำนึกในการให้ความสำคัญต่อการเคารพทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น เพื่อการเติบโตของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ หากในอนาคตอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยที่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 76 ไม่ลดลง ก็จะทำให้รายได้ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ท้องถิ่นลดลง อีกทั้งประเทศไทยก็จะพลาดโอกาสจากการลงทุนของต่างชาติที่มีแนวโน้มย้ายฐานการลงทุนไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จในการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์


ก่อนหน้านี้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จับกุมผู้ที่ลักลอบจำหน่ายสินค้าซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ ซึ่งได้ตรวจพบซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ละเมิดลิขสิทธิ์กว่า 100 รายการ พร้อมอุปกรณ์ก็อปปี้แผ่นซีดี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมในข้อหาผลิตและจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยศาลได้ตัดสินปรับ 100,000 บาท แต่ผู้ต้องหายอมรับผิดจึงลดเหลือ 50,000 บาท


ในอีกคดีหนึ่ง เจ้าของบริษัท New Technology Hardware ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในข้อหาทำซ้ำซอฟต์แวร์อย่างผิดกฎหมาย และติดตั้งลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อจำหน่าย ศาลได้ตัดสินปรับ 75,000 บาท หลังจำเลยรับสารภาพ


การเข้าจับกุมซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในครั้งนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความพยายามในการปราบปรามและลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย ซึ่งยังคงต้องอาศัยความพยายามอย่างต่อเนื่อง การจับกุมนับเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการปราบปรามซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย กรมทรัพย์สินทางปัญญา กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปอศ.) และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศใน ระยะยาว


“การเข้าจับกุมในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศที่ปลอดการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์และการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายนั้นถือเป็นภัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของภาคข้อมูลและการสื่อสาร ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง” พ.ต.อ.ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการกองปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี(บก.ปอศ.) กล่าว


“ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ ไมโครซอฟท์ให้การสนับสนุนแนวทางการปราบปรามที่จริงจังของ บก.ปอศ. ในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องด้วยเราตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อช่วยส่งเสริมให้เกิดช่องทางการค้าที่ถูกลิขสิทธิ์มากยิ่งขึ้น” นางสาวรีเบคก้า กล่าวเสริม “การละเมิดลิขสิทธิ์ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดผลเสียต่อธุรกิจซอฟต์แวร์และเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อการใช้งานของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน การใช้ซอฟต์แวร์ปลอมจะทำให้คอมพิวเตอร์ได้รับความเสี่ยงในการติดไวรัส เวิร์ม รวมถึงโค้ดต่างๆ อาทิ สปายแวร์และโทรจันเพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยวินโดวส์ 7 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากความอุตสาหะของนักพัฒนาทั่วโลก ผู้บริโภคจึงย่อมคาดหวังว่าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานซอฟต์แวร์แท้ แต่ซอฟต์แวร์ปลอมกลับไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”


ไมโครซอฟท์จะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับคู่ค้าในการให้ความรู้ต่อผู้บริโภคเพื่อที่พวกเขาจะสามารถปกป้องตนเองได้ นอกจากนี้ คู่ค้าของของไมโครซอฟท์ยังได้รับคำแนะนำในการช่วยเหลือลูกค้าที่สงสัยว่าตนได้ซื้อซอฟต์แวร์วินโดวส์ 7 ปลอม รวมทั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์อื่นๆ ด้วย

Currently have 0 ความคิดเห็น:

Leave a Reply

แสดงความคิดเห็น